Home

America visa


:: USA Visa Info ::

 

วีซ่านักเรียนประเทศอเมริกา

การเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างถูกกฏหมาย ผู้เดินทางจะต้องมีวีซ่าเข้าประเทศตามวัตถุประสงค์ของการเดินทางเข้าประเทศในครั้งนั้นๆ นอกจากนี้การมีวีซ่าไม่ใช่การรับประกันว่าผู้เดินทางจะสามารถเข้าประเทศได้ จุดที่ตัดสินว่าผู้เดินทางสามารถเข้าประเทศได้หรือไม่ คือเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองที่ทำหน้าที่ตรวจประทับตราเข้าเมืองที่สนามบินแรกที่เราเดินทางเข้าไปถึง

วีซ่าที่ได้รับจะมีชนิดและระยะเวลาที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการขอวีซ่า อย่างไรก็ดี ระยะเวลาของวีซ่าเป็นเพียงสิ่งกำหนดถึงระยะเวลาที่เราสามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้เท่านั้น ส่วนระยะเวลาที่ได้รับอนุญาติให้พำนักอาศัยในประเทศในแต่ละครั้งจะแปรเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเดินทางเข้าประเทศในครั้งนั้นๆ  

 

ขั้นตอนการขอวีซ่าในประเทศไทย 

                สำหรับผู้ที่ขอวีซ่าที่สถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2553 ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบฟอร์มใหม่ DS-160 เป็นแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสมัครวีซ่าประเภทชั่วคราวแบบใหม่เท่านั้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการสมัครขอวีซ่าดังนี้

  1. แบบฟอร์มใบคำร้อง DS-160 โดยผู้ขอวีซ่าควรเตรียมข้อมูลให้พร้อม เพราะการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม DS-160 แบบใหม่นี้ ได้มีการจับเวลาการกรอกข้อมูลวีซ่าเพียง 20 นาที
  2. ภาพถ่ายหน้าตรง 5 ซ.ม. x 5 ซ.ม. ในแบบฟอร์ม DS-160 แบบใหม่นี้จะให้มีการอัพโหลดรูปถ่ายของผู้ขอวีซ่าลงในแบบฟอร์ม DS-160
  3. การนัดสัมภาษณ์วีซ่า เมื่อผู้ขอวีซ่าดำเนินการกรอกข้อมูลวีซ่า DS-160 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะได้รับหมายเลขการยืนยันการบื่นแบบฟอร์มการสมัครวีซ่า (Confirmation Number) จากทางสถานทูต จากนั้นผู้ขอวีซ่าสามารถดำเนินการสมัครนัดวันสัมภาษณ์ได้ สำหรับการนัดวันสัมภาษณ์ ผู้ขอวีซ่าจะต้องไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเองที่สถานทูตเท่านั้น
  4. ซื้อซองไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ณ ที่ทำการไปรษณีย์ แต่ผู้ขอวีซ่าในกรุงเทพฯ สามารถซื้อที่สถานทูตฯ ได้
  5. ไปที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา หรือสถานกงสุลฯ ตามวันเวลาสัมภาษณ์ที่นัดหมาย 
    แผนกกงสุล สถานทูตสหรัฐอเมริกา (ตรวข้ามอาการสินธร หรือเยื้องกับสถานทูตสหรัฐฯ อาคารใหม่)
    เลขที่ 95 ถนนวิทยุ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
    โทรศัพท์: 02-205-4000
  6. หนังสือเดินทางส่งคืน ทางไปรษณีย์ภายใน 3 วันทำการ 

 

หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นขอวีซ่านักเรียน 

  1. แบบฟอร์มใบคำร้อง DS-160: ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน
  2. ค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องขอวีซ่า:  US$140 (4,620 บาท: มิถุนายน 2010) ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ร่วมโครงการ ปัจจุบันมีจำนวน 260 แห่งทั่วประเทศ คือทุกสาขาใน กทม. และที่ไปรษณีย์จังหวัดทุกจังหวัด ต้องชำระล่วงหน้า และไม่สามารถจ่ายที่แผนกกงสุล สถานทูตได้
  3. หนังสือเดินทาง: ฉบับปัจจุบันที่ยังมีอายุเหลืออยู่อย่างน้อย 6 เดือน รวมถึงหนังสือเดินทางฉบับก่อนๆ ที่มีวีซ่าสหรัฐอเมริกาด้วย
  4. ภาพถ่ายหน้าตรงขนาด 5 ซ.ม. x 5 ซ.ม.:  ที่มีฉากด้านหลังเป็นสีขาวเท่านั้น ไม่มีกรอบและถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน ใบหน้าต้องมีขนาดใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่รูปถ่าย และเห็นหูทั้ง 2 ข้าง
  5. หลักฐานใบเสร็จ SEVIS Fee: SEVIS – Student and Exchange Visitor Information System ท่านทียื่นขอวีซ่านักเรียน (F-1) ต้องชำระค่าธรรมเนียม SEVIS Fee จำนวน $200 หรือ ท่านที่ยื่นขอวีซ่าประเภทนักเรียนแลกเปลี่ยน (J-1) ต้องชำระค่าธรรมเนียม SEVIS Fee จำนวน $180 ให้กับ DHS
  6. แบบฟอร์ม I-20 (สำหรับนักเรียน/นักศึกษา):  ผู้ยื่นขอวีซ่านักเรียนต้องยื่นแบบฟอร์ม I-20 (ออกให้โดยทางโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ) หรือแบบฟอร์ม DS 2019 (สำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยน) ที่ออกให้โดยโรงเรียนหรือโครงการแลกเปลี่ยน และกรุณาเซ็นชื่อ และวันที่ ซึ่งอยู่ด้านล่างของฟอร์ม I-20 หรือ DS 2019
  7. หลักฐานการศึกษาที่ผ่านมา: ผู้ยื่นคำร้องต้องแสดงผลการเรียนครั้งล่าสุด (Transcript) ตัวจริง สำหรับผู้ยื่นวีซ่าขอวีซ่านักเรียนที่ไม่ได้ขอวีซ่าทันทีในปีที่จบการศึกษา ควรยื่นหลักฐานการทำงานหรือหลักฐานการเรียนภาษาอังกฤษ ประกอบการยื่นด้วย
  8. เอกสารยืนยันตัวบุคคล ได้แก่ บัตรประชาชน หรือสูติบัตร / เอกสารทะเบียนบ้านของผู้สมัคร ต้นฉบับพร้อมสำเนา
  9. เอกสารรับรองการพ้นจากการรับราชการทหาร (ในกรณีที่เกี่ยวข้อง) 
  10. จดหมายรับรองการทำงานของผู้สมัคร (หากมีประวัติการทำงาน) 
  11. หลักฐานแสดงการเงิน: ผู้ยื่นคำร้องควรยื่นแสดงเอกสารทางการเงินที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพ่อแสดงว่าตรเองมีเงินทุนจำนวนเหมาะสมที่จะครอบคลุมถึงค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าครองชีพระหว่างอยู่ในสหรัฐฯ โดยอาจยื่นแสดง บัญชีเงินฝากประจำ บัญชีกระแสรายวันบัญชีออมทรัพย์ และ/หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่เป็นของบุคคลผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย หมายเหตุ: ท่านควรยื่นแสดงเอกสารต้นฉบับเท่านั้น ทางสถานทูตไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเอกสารสำเนา
  12. หลักฐานการทำงานของผู้รับรองทางหลักทรัพย์: ผู้ยื่นคำร้องควรยื่นแสดงเอกสารรับรองการทำงานของผู้ปกครองที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยอาจยื่นแสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนในรูปของบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หนังสือรับรองการทำงานที่เป็นของบุคคลผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ข้อพึงปฏิบัติ ท่านควรยื่นแสดงเอกสารต้นฉบับเท่านั้น
  13. หลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครและผู้รับรองฐานะการเงิน (หากผู้รับรองฐานะการเงิน มิใช่บิดาหรือมารดา โปรดแสดงหลักฐานความสัมพันธ์ และจดหมายอธิบายถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว)
  14. หลักฐานถิ่นที่อยู่และความผูกพันที่มั่นคง: ผู้ที่ต้องการยื่นวีซ่าในเกือบทุกประเภท จำเป็นต้องแสดงหลักฐานความผูกพันที่มั่นคงนอกสหรัฐอเมริกา

  -  กฏหมายของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ผู้ที่ต้องการยื่นคำร้องขอวีซ่าประเภทชั่วคราวส่วนใหญ่ต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่กงสุลว่าไม่ได้มีความประสงค์ที่จะเป็นบุคคลเข้าเมืองถาวร ซึ่งอาจทำได้โดยการแสดงหลักฐานความผูกพันทางครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคมอื่นๆ ที่มีอยู่ภายนอกสหรัฐอเมริกา ญาติ พี่น้อง นายจ้างหรือเพื่อน ไม่สามารถรับประกันการเดินทางกลับของท่านแทนการยื่นหลักฐานดังกล่าวได้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินของท่าน เจ้าหน้าที่กงสุลจะต้องพิจารณาสถานภาพของผู้สมัครเพื่อการตัดสินใจว่าท่านมีคุณสมบัติครบถ้วนตรงตามที่กำหนดหรือไม่ ผู้สมัครขอวีซ่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการพิสูจน์ว่าท่านมีคุณสมบัติครบถ้วน การแสดงเอกสารข้อเท็จจริงที่บิดเบือน จะเป็นอุปสรรคทำให้ท่านไม่ได้รับวีซ่าหรือไม่สามารถเดนิทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้ตลอดชีพ

  -  จดหมายจากผู้ว่าจ้าง ที่แสดงถึงช่วงเวลาการทำงาน เงินเดือน และแจ้งให้ทราบถึงการอนุมัติวันลาหยุดพักร้อนในช่วงของการเดินทาง

  -  เอกสารรับรองด้านการเงินหรือสมุดธนาคาร ผู้สมัครต้องแสดงให้เห็นว่ามีเงินทุนเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องมีฐานะร่ำรวยจึงจะได้รับวีซ่า ดังนั้น เอกสารด้านการเงินที่แสดงประวัติด้านการธนาคารอย่างต่อเนื่อง มีการฝาก-ถอนแบบปกติ จึงมีประโยชน์มากกว่าการยื่นจดหมายทที่แสดงให้เห็นว่ามีเงินฝากจำนวนมาก

  -  สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ควรพยายามแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของท่านประสบความสำเร็จ และมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม เอกสารทะเบียนการค้าไม่ได้มีประโยชน์เท่าใดนัก เอกสารที่เหมาะสมกว่าคือใบสัญญา ใบแจ้งหนี้ รายงานทางบัญชี และข้อมูลด้านการธนาคารที่แสดงถึงกิจกรรมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ บันทึกและอกสารต่างๆ สำหรับการยื่นวีซ่าถือว่าเป็นความลับ โดยสถานทูตไม่มีการจัดส่งข้อมูลด้านรายได้หรือธุรกิจให้กับองค์กรต่างชาติใดๆ ทั้งสิ้น

  -  นักเรียน/นักศึกษา ควรอธิบายได้ว่าการศึกษาในสหรัฐฯ สามารถช่วยท่านได้อย่างไร เมื่อท่านเดินทางกลับมาแล้ว มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ท่านต้องการไปศึกษาหรือไม่ และมีความต้องการในตำแหน่งงานด้านนี้หรือไม่

หมายเหตุ: ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าหลักฐานใดน่าเชื่อถือมากกว่า เนื่องจากสถานภาพของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน รวมทั้งสถานภาพด้านครอบครัว สังคมและอาชีพการงาน ดังนั้นจังเป็นเพียงคำแนะนำในบางส่วนเท่านั้น

 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการขอวีซ่านักเรียนเพื่อไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมิรกา

  1.        SEVIS I-20

แบบฟอร์ม I-20 เป็นเอกสารสำคัญยืนยันการตอบรับเข้าศึกษาที่สถานบันเป็นผู้ออกให้ และต้องใช้ในการยื่นขอวีซ่านักเรียนโดยจะมีรายละเอียดทั้งหมดของนักศึกษา รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการไปศึกษา ตั้งแต่ชื่อสถาบัน พร้อมที่อยู่ ชื่อหลักสูตร ระยะเวลาของหลักสูตร วันเริ่มต้นและวันสำเร็จหลักสูตร อัตราค่าใช่จ่ายโดยประมาณ จนถึงเงื่อนไขเพิ่มเติม (ถ้ามี) ด้านล่างของเอกสารจะมีลายเซ็นของผู้มีอำนาจลงนามของสถาบัน พร้อมวันที่ที่ออกเอกสาร และนักศึกษาจะต้องเซ็นชื่อ และลงวันที่ก่อนนำเอกสารนี้ไปยื่นเพื่อขอวีซ่า

                เอกสาร I-20 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า SEVIS I-20 (Student Exchange and Visitor Information System) ซึ่งเป็นแบบฟอร์ม I-20 ที่มีหมายเลขประจำตัวกำกับพร้อม Barcode การจัดทำระบบ SEVIS นี้ขึ้นมาเพื่อต้องการให้เกิดความสะดวกในการติดตามตัวผู้เดินทางเข้ามายังประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยวีซ่านักเรียน ทั้งนี้ เมื่อสถาบันการศึกษาทำการตอบรับนักเรียนแล้วทางสถาบันจะต้องออกแบบฟอร์ม I-20 ผ่านระบบ SEVIS

                SEVIS แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ใช้สำหรับการออกวีซ่าและส่วน “events” ซึ่งระบุให้กับหน่อยงาน INS (Immigration and Naturalization Service) เพื่อรวบรวมรายละเอียดในส่วนต่างๆ อาทิเช่น ที่อยู่ปัจจุบันของนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา สถานภาพการเรียนของนักศึกษา วันที่เริ่มเรียนและวันที่สำเร็จการศึกษา หลักสูตรที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนและได้รับการตอบรับ และ วันที่นักศึกษายุติการศึกษาและเหตุผล (ในกรณีที่ไม่สำเร็จตามหลักสูตร)

2.        แบบฟอร์ม DS-2019

เป็นเอกสารการตอบรับเข้าศึกษาที่สถาบันการศึกษาเป็นผู้ออกเหมือนกับ I-20 แต่ DS-2019 เป็นเอกสารการตอบรับนักศึกษาที่ใช้วีซ่าประเภท J-1 และเป็นเอกสารสำคัญในการใช้ขอวีซ่า ได้แก่ ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน ซึ่งรวมถึงนักเรียนทุนและผู้ที่ไปศึกษาดูงานหรือฝึกอบรมตามคำเชิญของหน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาทั้งจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลไทย สถาบันการศึกษาต่างๆ องค์กร/บริษัทที่สนับสนุนด้านการแลกเปลี่ยนต่างๆ และผู้ที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นผู้บรรยาย นักวิจัย หรือผู้เข้ารับการฝึกอบรม

3.        ค่าธรรมเนียม SEVIS FEE

US Department of Homeland Security (DHS) ได้ออกกฏข้อบังคับกำหนดให้ผู้สมัครวีซ่าประเภท F-1, M-1 และ J-1 ชำระค่าธรรมเนียม SEVIS Fee ซึ่งเป็นการชำระเพียงครั้งเดียว ค่าธรรมเนียมสำหรับวีซ่า F-1 และ M-1 เท่ากับ US$200 และ สำหรับแบบ J-1 เท่ากับ US$180

เมื่อนักศึกษาได้รับ I-20 หรือ DS-2019 แล้วจึงจะสามารถยื่นชำระค่าธรรมเนียม SEVIS ได้ โดยสามารถชำระได้ทางไปรษณีย์หรือผ่านทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ผู้ที่สามารถชำระค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ได้ คือนักศึกษา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่นเพื่อน ญาติ บริษัทตัวแทน หรือสถาบันการศึกษา แผนกวีซ่าจะไม่ดำเนินการนัดสัมภาษณ์ให้กับผู้ที่ยื่นขอวีซ่าจนกว่าจะได้ชำระค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ และ DHS ได้รับค่ะรรมเนียมในส่วนนี้แล้ว นักศึกษาต้องชำระค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ล่วงหน้อย่างน้อยเป็นเวลา 3 วันทำการ ก่อนวันที่ต้องการยื่นขอวีซ่า

4.        แบบฟอร์ม DS-160

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา จะรับแบบฟอร์มแบบใหม่คือ DS-160 (http://ceac.state.gov/genniv/) ซึ่งเป็นแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสมัครวีซ่าประเภทชั่วคราว DS-160 แบบใหม่นี้เป็นแบบฟอร์มที่ต้องกรอกทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น โดยจะใช้เก็บข้อมูลที่จำเป็นในการสมัครวีซ่าประเภทชั่วคราว DS-160 จะถูกส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ไปที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่กงสุลจะใช้ข้อมูลที่กรอกลงในแบบฟอร์ม DS-160 ในการดำเนินการเกี่ยวกับการสมัครวีซ่าร่วมกับการสัมภาษณ์บุคคล ในการพิจารณาคุณสมบัติได้รับวีซ่าชั่วคราวของผู้สมัคร

5.        แบบฟอร์ม I-94 หรือเอกสารบันทึกการเข้า-ออกประเทศ

เป็นเอกสารที่ได้รับบนเครื่องบินเพื่อให้ทุกคนกรอกและยื่นให้กับเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองจะพิจารณาเอกสารทุกอย่างและกรอกข้อมูลระยะเวลาที่อนุญาตให้อยู่ในสหรัฐอเมริกาครั้งนั้นๆ จากนั้นจะแนบเอกสาร I-94 ไว้กับหนังสือเดินทาง

 

แผนกกงสุล สถานทูตสหรัฐอเมริกา 

(ตรงข้ามอาคารสินธร หรือเยื้องกับสถานทูตสหรัฐฯ อาคารใหม่)

เลขที่ 95 ถนนวิทยุ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

T: 02-205-4000

F: 02-254-1171, 02-205-4103

E: acsbkk@state.gov

W: http://bangkok.usembassy.gov/service.html

เวลาทำการ 7.30 – 11.00 และ 13.00 – 14.00 (ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ยกเว้น วันหยุดราชการของประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา)